เจ็บแน่นหน้าอก
ลักษณะสำคัญของการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากโรคหัวใจ
1. เจ็บแน่นอึดอัด เหมือนถูกบีบรัดหรือกดทับ
2. อาการเจ็บครั้งละประมาณ 2 – 3 นาทีจนถึง 30 นาที
3. เป็นมากเมื่อออกแรงและบรรเทาเมื่อพัก แต่บางรายอาจเกิดขณะพักได้
4. อาการมักเกิดที่บริเวณกลางหน้าอก บางรายอาจเกิดที่ด้านซ้ายหรือขวาได้
5. บางรายมีอาการเจ็บร้าวไปที่ ไหล่ซ้าย กราม แขนซ้ายจนถึงนิ้วก้อนได้ ลิ้นปี่ หรือแม้แต่แขนขวาได้
6. อาจมีอาการหน้ามืด ใจสั่น เหงื่อออกร่วมด้วย
การช่วยเหลือเบื้องต้น
1. ประเมินสภาวะผู้ป่วย โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทันที
1) ตา ตรวจดูลักษณะท่าทางของผู้ป่วยนั่งหรือนอน หมดสติ ดูทรวงอกยังขยับขึ้นลง หายใจได้หรือไม่ ลักษณะอย่างไร สีผิวซีดหรือคล้ำหรือไม่
2) หู ฟังการหายใจ
3) จมูก สังเกตสิ่งผิดปกติ
4) ปาก ถามอาการเจ็บแน่นหน้าอก มีการเจ็บร้าวไปที่ใดหรือไม่ ลักษณะการเจ็บ แน่น อึดอัดหรือแปล็บๆ ฯ เจ็บนานเท่าใด เจ็บกี่ครั้งแล้ว
5) มือสัมผัสผิวหนังผู้ป่วย ร้อน อุ่น เย็น เปียกชื้นอย่างไร
2. กรณีเป็นผู้ป่วยที่แพทย์สั่งยาสำหรับอมใต้ลิ้น ให้เริ่มอมยาตามคำสั่งแพทย์ หากผู้ป่วยได้อมไปแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น สามารถซ้ำได้อีก 1 ครั้งห่างกัน 15 นาที
3. โทรขอความช่วยเหลือ โทร 1669 แจ้งเหตุขอความช่วยเหลือจากรถพยาบาล พร้อมแจ้งข้อมูลสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ ดังนี้
1) อาการสำคัญที่ต้องไปพบแพทย์ ได้แก่ อาการเจ็บแน่นหน้าอก และลักษณะของอาการเจ็บที่ซักถามได้
2) อาการสำคัญอื่นๆตามที่ตรวจพบตามข้อ 1. เช่น ลักษณะการเจ็บร้าวไปที่ใดหรือไม่ เจ็บระยะเวลานานเท่าใด เจ็บกี่ครั้งแล้ว อมยาใต้ลิ้นแล้วเมื่อใด หลังจากนั้นอาการเป็นอย่างไร เจ็บหน้าอกขณะมีกิจกรรมใดอยู่ หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ต้องนั่ง ฯ
3) ที่ที่ผู้ป่วยอยู่ขณะนั้น
4) เส้นทางการเดินทาง พร้อมจุดสังเกตที่สำคัญตลอดเส้นทางไปถึงผู้ป่วย
5) ชื่อ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ของผู้แจ้งเหตุ หรือผู้ที่อยู่กับผู้ป่วยสามารถให้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยเพิ่มเติมได้
4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลาขณะรอรถพยาบาลไปถึง