เลือดกำเดา ( Epitaxis )
เป็นอาการที่มีเลือดไหลออกจากรูจมูกเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
เนื่องมาจากเส้นเลือดภายในโพรงจมูกแตก
เลือดกำเดาที่ไหลส่วนใหญ่ไม่ใช่สัญญาณอันตรายของโรคร้ายแรง
เพราะเส้นเลือดภายในโพรงจมูกค่อนข้างเปราะบางและแตกได้ง่าย ร่างกายจะมีกลไกทำให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหลได้เอง
โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ สัญญาณของอาการป่วยรุนแรงหรือความผิดปกติภายในร่างกายพบได้ไม่บ่อยนัก เลือดกำเดาไหลทั่วไปมีเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1) ล้วงหรือแคะจมูก
2) จามแรงๆ หรือบ่อย ๆ
3) สั่งน้ำมูกแรงเกินไป
4) จมูกได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง หรือการประสบอุบัติเหตุ
5) อุณหภูมิและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในอากาศหนาว หรืออากาศแห้ง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-10 ปี และผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 50-80 ปี
6) การใช้ยาบางชนิดที่มีผลทำให้โพรงจมูกแห้ง เช่นกลุ่มยารักษาโรคภูมิแพ้ ยารักษาไข้หวัด รวมทั้งยารักษาไซนัสอักเสบ เช่น ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) และยาแก้คัดจมูก (Decongestants)
7) การใช้ยาแอสไพรินในปริมาณมาก
หากมีเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเตือนให้ทราบถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น มีสิ่งแปลกปลอมติดค้างอยู่ภายในจมูก ปฏิกิริยาแพ้ต่อสารเคมี โรคภูมิแพ้ หรือปฏิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดออกผิดปกติ ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะหลอดหลอดเลือดแข็ง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน การเกิดมะเร็งในโพรงจมูก เป็นต้น หากมีเลือดกำเดาไหลผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาอาการได้ด้วยตนเองที่บ้านด้วยการห้ามเลือดให้หยุดไหลง่ายๆ
การห้ามเลือดกำเดาไหล
หลักสั้น ๆ ปฏิบัติง่าย ๆ เมื่อเลือดกำเดาไหล ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่คือ “บีบจมูก นั่งหลังตรง ก้มหน้าเล็กน้อย อ้าปากหายใจ”
ห้ามเงยหน้าหรือเอนตัวลงนอน แต่ให้นั่งหลังตรง (การนั่งหลังตรงจะช่วยบังคับให้ปริมาณและความแรงของเลือดลดลงเพราะศีรษะอยู่สูง) และก้มหน้าลงเล็กน้อย (เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงคอ ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองและสำลักเลือด เลือดจะออกมากขึ้น และเลือดอาจเข้าไปในปอดก่อให้เกิดปอดอักเสบตามมาได้)
1) นั่งอยู่กับที่นิ่ง ๆ เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
2) ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบรูจมูก (การกดหรือบีบ ต้องกดหรือบีบให้แน่น)
3) สอนให้ผู้ป่วยหายใจทางปากแทนชั่วคราวนานประมาณ 10 นาที หากผ่านไป 10 นาทีแล้วให้เลิกบีบจมูก ซึ่งการใช้วิธีนี้ส่วนมากมักจะได้ผล
4) ถ้าเลือดหยุดไหลแล้วอย่าเพิ่งเอาก้อนสำลีหรือผ้าที่ปิดห้ามเลือดไว้หรือลิ่มเลือดภายในโพรงจมูกออกจนกว่าจะครบ 1 ชั่วโมง เพราะเลือดอาจจะไหลซ้ำได้อีกครั้ง (หากเลือดกำเดายังไม่หยุดไหล ให้ทำตามขั้นตอนเดิมซ้ำอีก
5) หากมีเลือดที่ไหลลงในปากหรือลำคอ ให้คายเลือดออกมา อย่ากลืนเลือดลงไป รวมถึงต้องไม่นอนราบ และไม่เงยหน้าขึ้นในขณะที่เลือดกำเดาไหล เพราะอาจกลืนเลือดลงไปในกระเพาะแล้วทำให้เกิดการระคายเคืองที่อาจทำให้เกิดอาการป่วยอื่น ๆ ตามมา เช่น การอาเจียน
6) ประคบเย็นบริเวณหน้าผาก อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งหรือเจลประคบเย็น cold pack วางไว้บริเวณสันจมูก (ดั้งจมูก) กระตุ้นให้เส้นเลือดบีบรัดตัวทำให้เลือดหยุดไหลได้ หรืออาจประคบเย็นที่บริเวณหน้าผากและคอร่วมด้วยก็ได้ “อาจอมน้ำแข็งเอาไว้ในปาก” เพราะการอมน้ำแข็งจะช่วยลดอุณหภูมิได้เร็ว
ไม่พ่นจมูก สั่งน้ำมูก หรือล้วงแคะจมูก เพราะจะทำให้อาการแย่ลงห้ามสั่งจมูกหรือแคะจมูก โดยเฉพาะเมื่อเลือดไหลน้อยลงแล้ว เพราะอาจทำให้เลือดที่แข็งตัวแล้วหลุดออกและเลือดไหลอีกครั้ง
หากพยายามห้ามเลือดกำเดาด้วยตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผลและเลือดกำเดายังคงไหลอยู่อย่างต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาต่อไป
ข้อมูลสำคัญของการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือจากรถพยาบาล
1. อาการสำคัญที่ต้องไปพบแพทย์ คือ เลือดกำเดาไหลออกมากช่วยด้วยการห้ามเลือดแล้วไม่หยุด
2. อาการอื่นๆที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น ระดับการรู้สติ การหายใจลำบากหรือไม่ มีเหงื่อออกตามตัว ตัวซีด เย็นหรือไม่ สาเหตุของการมีเลือดกำเดาไหล เป็นต้น
3. ที่ที่ผู้ป่วยอยู่ขณะนั้น
4. เส้นทางการเดินทางไปยังที่ที่ผู้ป่วยอยู่ พร้อมจุดสังเกตสำคัญตลอดเส้นทางการเดินทางไปยังที่ที่ผู้ป่วยอยู่
5. ชื่อพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ของผู้แจ้งเหตุ หรือหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ที่สามารถให้ข้อมูลผู้ป่วยเพิ่มเติมได้