การแจ้งเหตุเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือการแพทย์ฉุกเฉิน
หลักของการให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินจะคำนึงถึง ความรวดเร็ว ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้เจ็บป่วยเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงสิทธิการรักษาและโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีประวัติการรักษาอยู่เดิม เมื่อมีประชาชนโทรเข้ามาเพื่อขอรับบริการรถพยาบาลฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 จำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องประเมินอาการว่าผู้ป่วยเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์การแพทย์ฉุกเฉินหรือไม่ เพื่อให้สามารถจัดบริการความช่วยเหลือให้กับผู้ป่วยที่ฉุกเฉินได้ทุกราย
และเมื่ออาการของผู้ป่วยที่แจ้งขอความช่วยเหลือเข้าข่ายอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ทางศูนย์รับแจ้งเหตุจะรีบประสานงานให้รถโรงพยาบาลหรือรถกู้ชีพที่เหมาะสมซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงไปรับผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้และพร้อมรับ ดังนั้นการแจ้งข้อมูลแจ้งเหตุเบื้องต้นที่ถูกต้องทางการแพทย์ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้รับแจ้งเข้าใจสถานการณ์ของผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างถูกต้อง มีการเตรียมความช่วยเหลือที่เหมาะสมเพิ่มโอกาสรอดและความปลอดภัยมากขึ้น
ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการของหมายเลข 1669 เมื่อประชาชนแจ้งเหตุเข้ามาไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดใดก็จะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการของจังหวัดคอยให้บริการ
รับสายสอบถามรายละเอียดเบื้องต้นและจัดรถพยาบาลหรือรถกู้ชีพออกให้ความช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัยตลอด
24 ชั่วโมง การขอใช้บริการในระบบฯเป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินจะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่ หรือเรื่องของสิทธิการรักษา โดยได้ตราข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยฉุกเฉิน ไว้ในพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551ดังนี้
1) เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามความหมายที่พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ว่า บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการดังนี้
(1) บาดเจ็บ หรือป่วยกะทันหัน
(2) ซึ่งเป็นภยันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ
(3) จำเป็นต้องได้รับการประเมิน การจัดการและการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยนั้น
2) การขอใช้บริการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยในความรุนแรงระดับวิกฤตฉุกเฉินดังกล่าว ได้แก่
- หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น ไม่มีชีพจร ต้องได้รับการกู้ชีพทันที
- การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน
- ระบบหายใจมีอาการผิดปกติ ดังนี้ ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ การสำลักที่มีการอุดทางเดินหายใจร่วมกับมีอาการเขียวคล้ำร่วมด้วย
- ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤติอย่างน้อย 2 ข้อร่วมกัน คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น หรือมีการเสียเลือดไม่หยุดจำนวนมากและยังไหลไม่หยุด
ขั้นตอนในการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากรถพยาบาล
เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ ผู้ที่พบเหตุผู้เจ็บป่วยตกในภาวะฉุกเฉินเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ถือว่าเป็นผู้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินต้องการไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาล ผู้พบเหตุต้องตั้งสติให้ดี และปฏิบัติดังนี้
1. ประเมินสภาวะผู้ป่วย หรืออาการสำคัญตามที่ประสบ ซึ่งตรงตามข้อกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินที่กฎหมายระบุไว้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการแจ้งเหตุขอใช้บริการรถพยาบาล ดังนี้
1) กรณีผู้ป่วยยังรู้สึกตัวหรือไม่ ถ้ารู้สึกตัวให้ถามอาการความเจ็บป่วยสำคัญ ที่คิดว่าเป็นอาการที่ต้องไปพบแพทย์ทันที เช่น หายใจติดขัด แขนขาอ่อนแรง ชัก นาน ..... นาที เจ็บหน้าอก เลือดออกมาก เป็นต้น
2) กรณีไม่รู้สึกตัว ให้หาข้อมูลอาการสำคัญที่ท่านคิดว่าต้องนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ เช่น เรียกไม่ตื่น ซึมลง พูดสับสน มุมปากตก แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด เป็นต้น ซึ่งอาจมีมากกว่า 1 อาการก็ได้
2. โทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน หมายเลข 1669 หรือ 1646 หรือ 1555 กด 4 แจ้งข้อมูลสำคัญตามข้อ 1 ในการขอความช่วยเหลือ ด้วยลำดับข้อมูลดังนี้
1) เกิดเหตุอะไร (ที่ต้องการความช่วยเหลือ ป่วยหรือบาดเจ็บจากเหตุ) ตามด้วยข้อมูลที่ประเมินได้ตามข้อ 1
2) ที่อยู่ หรือสถานที่เกิดเหตุ หรือที่ผู้เจ็บป่วยอยู่ขณะนั้น ไม่ใช่ของผู้แจ้งเหตุ ประกอบด้วย
(1) เลขที่ ........ ตรอก/ซอย ........ ถนน ....... เขต ........ จังหวัด ...... (ช่วยจะลดความเสี่ยงคลาดเคลื่อน) หรือจุดที่เกิดเหตุที่ชัดเจน
(2) เส้นทางการเดินทางไปยังที่อยู่ผู้ป่วยหรือสถานที่เกิดเหตุ เข้าตรอก/ซอย........... ระยะ...... เมตร หากมีซอยย่อย หรือมีเลี้ยวซ้ายขวาระบุด้วย เพื่อให้หน่วยปฏิบัติการเกิดความชัดเจนไปถึงผู้เจ็บป่วยได้รวดเร็ว
4) อาการสำคัญที่เกี่ยวข้องหรืออาการร่วมอื่นๆของผู้เจ็บป่วย
(1) ความรู้สึกตัว และระดับสติของผู้ป่วย
(2) อาการสำคัญที่เกี่ยวข้องอื่นตามที่ได้ประเมินสภาวะผู้เจ็บป่วย ทำให้จำเป็นต้องไปพบแพทย์
(3) อาการอื่นๆที่พบ และอาจสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยครั้งนี้
(4) อายุ เพศของผู้ป่วย
5) ชื่อผู้แจ้งเหตุ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อกลับได้ หรือชื่อผู้ที่อยู่กับผู้ป่วยพร้อมเบอร์โทรศัพท์
3. ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ อาจต้องลงมือให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินขณะรอหน่วยปฏิบัติการไปถึง โดยปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ
4. ควรอยู่กับผู้ป่วยรอจนชุดปฏิบัติการจะไปถึง และหากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง ควรโทรแจ้งเหตุให้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมในทันที